ความเป็นมา


หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เริ่มเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี พ.ศ.2541 และมีพัฒนาการของหลักสูตรมาอย่างต่อเนื่อง หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิตดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรมาแล้ว 3 ครั้ง ได้แก่ ปีการศึกษา 2545 2549 และล่าสุด 2554 ซึ่งได้เริ่มใช้ในปีการศึกษา 2555 โดยมีปรัชญามุ่งเน้นผลิตบัณฑิตให้สามารถบูรณาการความรู้ทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและเศรษฐศาสตร์ทางเลือก เพื่อแก้ปัญหาของระบบเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม สร้างสรรค์ นำไปสู่การปฎิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลและมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการส่งเสริมและยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
     ปีการศึกษา 2559 เป็นช่วงระยะเวลาที่หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2554) ครบ 5 ปี คณะกรรมการประจำหลักสูตรดำเนินการประเมินและปรับปรุงหลักสูตรสำหรับใช้ในปีการศึกษา 2560 เพื่อให้หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิตมีความทันสมัยและก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตร บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรเศรษฐศาสตร์จำเป็นต้องมีความรู้ในลักษณะของการบูรณาการระหว่างศาสตร์ต่างๆ เพื่อรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้เป็นไปตามปณิธานของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่จะผลิตบัณฑิตที่เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง ตลอดจนเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ.2558 ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
      หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2560) สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดกระบวนการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพบัณฑิต โดยมุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนแบบเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Work-integrated Learning: WIL) ผ่านสหกิจศึกษาเต็มรูปแบบ โดยใช้โอกาสจากการศึกษาแบบไตรภาคให้นักศึกษาทุกคนปฎิบัติงานสหกิจศึกษาไม่น้อยกว่า 2 ภาคการศึกษาในสถานประกอบการทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศ และระดับนานาชาติ ส่งผลให้นักศึกษาค้นพบความถนัดในอาชีพและมีความพร้อมในการทำงานหลังสำเร็จการศึกษาและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน นอกจากนี้หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิตจัดการเรียนการสอนที่เน้นพัฒนาทักษะความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษทั้งในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปและหมวดวิชาเฉพาะ ตลอดจนการจัดกิจกรรมที่เน้นการพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษอย่างต่อเนื่องตลอดสี่ปีการศึกษาและจัดให้มีระบบอาจารย์ที่ปรึกษาทางวิชาการหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ผ่านคู่มืออาจารย์ที่ปรึกษา รวมทั้งมีระบบ กลไกการดูแลให้คำปรึกษาวิชาการและแนะแนวเกี่ยวกับการเรียนและการปรับตัวในมหาวิทยาลัย อีกทั้งจัดให้มีการสอบประมวลความรู้ (Comprehensive Exam) ของหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ประจำปีการศึกษาเพื่อประเมินความรู้ความสามารถและรับรองมาตรฐานก่อนออกสู่ตลาดแรงงาน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

The Center for Library Resources and Educational Media

สืบค้นข้อมูลเครือข่ายห้องสมุดในประเทศไทย - TDC - ThaiLIS

The World Bank